สอน Python เบื้องต้นแบบสุดๆ ตอนที่ 2: ทำความรู้จักกับตัวแปร และ ประเภทของข้อมูล

ส่งต่อความรู้

เอาหละหลังจากที่ติดตั้ง Python กันเรียบร้อยแล้ว ก็พร้อมรบ

วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า Variable (ตัวแปร) ครับ

ตัวแปรเป็นที่ที่เอาไว้เก็บข้อมูลต่างๆ ในโปรแกรม ซึ่งสามารถอ้างอิงกลับมาใช้ได้ และ เราสามารถเปลี่ยนข้อมูลที่เก็บอยู่ในตัวแปรเก็บไว้ได้เสมอ

ฟังแล้วอาจจะงง

ลองนึกภาพตามนะครับ

สมมุติว่าเราได้โหลแก้วสวยๆมาใบหนึ่ง เราก็หาของมาใส่เก็บไว้ข้างใน จากนั้นปิดฝาเขียนป้ายติดไว้ว่าขวดนี้ใส่อะไร เพื่อว่า วันหลังจะได้หยิบใช้งานได้อย่างสะดวก

โหลแก้วในที่นี้ก็คือตัวแปร สิ่งของที่อยู่ข้างในคือ Value (ค่า) ของตัวแปรนั้นเอง

ซึ่งการสร้างตัวแปรใน python ก็ทำได้ง่ายมาก เพียงแค่ตั้งชื่อตัวแปรแล้วใส่เครื่องหมายเท่ากับ (=) จากนั้นก็ให้ค่าตัวแปร แค่นี้ก็เรียบร้อยแล้ว

ตัวอย่าง การสร้างตัวแปรชื่อ x โดยมี ค่า =  3

x = 3# จากนั้นลองเอา x บวกด้วย 5

print(x + 5)

มาดูผลลัพท์กัน

8

จะเห็นว่าเมื่อเอา x มาบวกกับจำนวน 5 ได้ผลลัพท์ออกมาเท่ากับ 8

มาถึงจุดนี้แล้วอยากจะอธิบายคำศัพท์เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมให้ได้ทราบกันครับ

จาก x + 5 ข้างบนนั้นสามารถเรียกองค์ประกอบต่างๆได้ดังนี้

x คือตัวแปร อย่างที่เราทราบกัน
+ คือ สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ (Mathematical Operator )
5 คือ ค่าของจำนวน 5

ถ้าเราเอาตัวแปร สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ และ ค่า (Value) มารวมกันแล้วประมวลผล บรรทัดนี้เรียกว่า Expression ครับ (อาจจะไม่ต้องครบทั้งสามองค์ประกอบก็ได้ อย่างเช่น 5 + 5 ซึ่งไม่มีตัวแปรก็เรียกว่า Expression ได้เหมือนกัน)

ตัวแปรใน Python นั้นสามารถเก็บข้อมูลได้หลายรูปแบบ  โดยประเภทข้อมูล (Data Type)ที่นิยมใช้กันบ่อยใน Python มีหลายประเภทมีดังนี้

1. str ข้อความตัวอักษร โดยการให้ค่าตัวแปรประเภทนี้ต้องใส่เครื่องหมาย ‘ หรือ ” ปิดท้ายหน้าหลัง (str ย่อมาจาก string)
2. int จำนวนเต็มไม่มีเศษอย่างเช่น 10 -5 หรือ 0 เป็นต้น (int ย่อมาจาก integer)
3. float จำนวนจริง เช่น 10.0 5.5 หรือ 0.157489 เป็นต้น (float ย่อมาจาก floating point)
4. bool มีแค่สองค่าคือ True หรือ False เอาไว้เช็คค่าต่างๆว่าใช้หรือไม่ใช่ ซึ่งจะได้เรียนกันต่อไปครับ(bool ย่อมาจาก boolean)

เราสามารถตรวจสอบชนิดของข้อมูลต่างๆด้วยฟังก์ชัน type()
ในตัวอย่างนี้เราจะสร้างตัวแปรทั้ง 4 ประเภท แล้วมาดูว่าเป็นข้อมูลประเภทไหนกัน

#ประกาศตัวแปรmy_text = ‘AI Informatics’
my_int = 1
my_float = 1.5895
my_bool = True#ตรวจสอบประเภทข้อมูลด้วย type()print(type(my_text))
print(type(my_int))
print(type(my_float))
print(type(my_bool))

ทีนี้มาดูผลลัพท์กันครับ

<class ‘str’>
<class ‘int’>
<class ‘float’>
<class ‘bool’>

เอาหละตอนนี้เรารู้วิธีการสร้าง และ เช็คประเภทตัวแปรกันแล้ว มาดู ข้อควรระวังในการตั้งตัวแปรกันครับ

1. ไม่ใช่ว่าตัวเลขทุกตัวที่เห็นในตัวแปรจะมีค่าเป็น int หรือ float ต้องดูก่อนว่ามีเครื่องหมาย ‘ หรือ ” ปิดหน้าหลังหรือไม่ ถ้ามีแสดงว่าเป็น อักขระเลข 3 ไม่ใช่จำนวน 3 ซึ่งไม่สามารถเอาไปใช้บวกลบคูณหารใดๆได้ อย่างตัวอย่างนี้

num_three = 3
letter_three = ‘3’print (1 + num_three)
print (1 + letter_three)

มาดูผลลัพท์กัน

4
—————————————————————————
TypeError                                        Traceback (most recent call last)
<ipython-input-2-5ac9640ba58e> in <module>()
3
4 print (1 + num_three)
—-> 5 print (1 + letter_three)TypeError: unsupported operand type(s) for +: ‘int’ and ‘str’

จาก Code ด้านบนจะพบว่า
เมื่อเอาจำนวน 1 บวกกับ num_three จะได้ผลลัพท์ออกมาเป็น 4
แต่พอโปรแกรมมาถึงจุดที่ ต้องเอาเอาจำนวน 1 บวกกับ letter_three โปรแกรมจะบอกว่า TypeError: เพราะว่า letter_three เป็นตัวแปรประเภท string ซึ่งไม่สามารถเอามาบวกกับตัวประเภท int ได้ แล้วหยุดการทำงาน

2. การตั้งตัวแปร str ให้ใช้เครื่องหมาย ‘ หรือ ” ให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่าใช้ผสมกันแบบนี้

x = ‘Do not do this”

ลอง Run ดูครับ แล้วจะพบว่า Python จะโยน SyntaxError: ออกมาให้เรา

3. การตั้งชื่อตัวแปรมีทั้งกฏข้อบังคับตามนี้

  • การตั้งชื่อตัวแปรใน python นั้นเป็น case sensitive ซึ่งหมายถึงตัวพิมพ์ใหญ่ เล็ก มีผล ดังนั้น Akb48 เป็น ตัวแปรคนละตัวกับ akb48
  • ห้ามมีการเว้นวรรคในชื่อตัวแปร  ถ้าต้องการแบ่งคำ วิธีที่นิยมใช้กันคือใช้ตัวพิมพ์เล็ก และ ขีดล่าง (underscore) แทนการเว้นวรรคอย่างเช่น discount_price หรือ member_team เป็นต้น
  • ห้ามใช้สัญลักษณ์พิเศษเช่น !@#$%^&*()[]{}'””
  • ห้ามขึ้นต้นด้วยตัวเลข เช่น 48akb แบบนี้ไม่ได้ แต่ใช้ตัวเลขต่อท้าย akb48 แบบนี้ได้
  • ห้ามใช้คำสงวนใน Python ทั้ง 33 คำนี้ เนื่องจากเป็นคำสั่งพิเศษใน Python
0   False    None      True
1     and      as    assert
2   break   class  continue
3     def     del      elif
4    else  except   finally
5     for    from    global
6      if  import        in
7      is  lambda  nonlocal
8     not      or      pass
9   raise  return       try
10  while    with     yield

ตอนนี้ทุกท่านคงรู้วิธีการสร้างตัวแปร และ ประเภทข้อมูลต่างๆใน Python แล้ว เดี๋ยวตอนที่ 3 จะมาว่ากันต่อเรื่อง การใช้ สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ กับ ตัวแปรประเภทต่างๆในไพธอน


กด Like กด Share กันได้นะครับ และ ยังสามารถกดติดตาม Facebook ของเราได้ที่นี่ หรือ Follow ใน Twitter เพื่อ ให้ทีมงาน AI Informatics มีกำลังใจผลิตเนื้อหาต่อไปครับ ขอบคุณครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *